
ตะขาบ เป็นสัตว์ที่หลายๆ คนกลัว แต่หลายๆ คนก็หลงใหลในความสวยงามของสีสันและความลี้ลับของมัน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักมันดี วันนี้เรามาลองทำความรู้จักกับตะขาบกันเถอะ
ตะขาบ (Centipede) จัดอยู่ในไฟลั่มอาร์โธพอด หรือสัตว์ขาข้อ อยู่ในชั้น Chilopoda เป็นสัตว์บกพบว่ามีถิ่นอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทั้งในเขตป่าร้อนชื้น, ทะเลทราย จนถึงเขตขั้วโลก
Centipede มาจากภาษาละตินคำว่า Centi ที่แปลว่า 100 กับคำว่า pes, pedis ที่แปลว่า เท้า เมื่อรวมกันจึงหมายถึง “100 เท้า”หรือเรียกให้สุภาพไปอีก คือ “100 บาทา”นั่นเอง
ลักษณะโดยทั่วไป
ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลำตัวเป็นปล้องๆ แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ จำนวนปล้องมีตั้งแต่ 15-150 ปล้อง จำนวนขาจึงมีถึง 30-300 ขา ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Centipede จำนวนคู่ของขาตะขาบจะเป็นจำนวนคี่ เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการจำแนกชนิดของตะขาบ ตะขาบมีส่วนหัวที่กลมและแบน มีหนวด 1 คู่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเสาอากาศตรวจจับความเคลื่อนไหวและแรงสั่นสะเทือน
ตะขาบมีการมองเห็นที่ไม่ดีนัก บางชนิดมองไม่เห็นเลย มีขากรรไกรล่าง 1 คู่ และมีส่วนขากรรไกรบนหรือเขี้ยว 1 คู่ ยื่นพ้นปากออกมา เขี้ยวพิษเชื่อมต่อกับต่อมพิษ เมื่อกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เหยื่อเจ็บปวด เป็นอัมพาตหรือตายได้ ต่อจากส่วนหัวเป็นส่วนปล้องของลำตัว 15 ปล้องหรือมากกว่านั้น แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ 2 ปล้องสุดท้ายจะมีขนาดเล็กและมีขาที่เล็กด้วย
อาการเบื้องต้นหากโดนพิษของตะขาบ
พิษของตะขาบมีสารที่ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน บวมแดง อักเสบ ซึ่งหากมีอาการอักเสบมากๆจะทำให้เลือดไม่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณนั้น ส่งผลให้เนื้อตาย อาจต้องตัดทิ้ง
โดยปกติตะขาบจะหนีคนมากกว่า จะกัดคนก็เพราะตกใจหรือป้องกันตัว เมื่อถูกกัดจะพบรอยเขี้ยว 2 รอย ลักษณะเป็นจุดเลือดออกตรงบริเวณที่ถูกกัด พิษของตะขาบทำให้มีการอักเสบ ปวดบวม แดงร้อน ชา เกิดอัมพาตตรงบริเวณที่ถูกกัด อาจเป็นแผลไหม้อยู่ 2-3 วัน
วิธีแก้พิษจากตะขาบกัดด้วยสมุนไพร
เริ่มต้นด้วยการทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด จากนั้นจึงทานยาแก้ปวดตามเพื่อระงับอาการปวด แล้วจึงทำการรักษาด้วยสมุนไพร ซึ่งสมุนไพรที่นิยมนำมารักษามีดังนี้
1. ตะขาบบิน นำใบสดมาตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าหรือน้ำซาวข้าว จากนั้นกรองแยกน้ำกับกาก แล้วจึงนำน้ำมาทาบริเวณแผล นำกากที่เหลือมาพอกแผลทิ้งไว้ จะช่วยแก้พิษตะขาบและช่วยลดอาการบวมได้อีกด้วย
2. ตำลึง นำใบตำลึงมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปผสมเหล้าขาว จากนั้นนำไปพอกแผลทิ้งไว้จะช่วยถอนพิษตะขาบได้อย่างดีเลยทีเดียว
3. ขิงแก่ นำขิงแก่มาตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปผสมกับเหล้าขาว แล้วนำไปพอกทิ้งไว้บริเวณที่ถูกตะขาบกัด สามารถถอนพิษตะขาบและช่วยบรรเทาอาการปวดได้
วิธีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น
- ทำการล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาล้างแผล และประคบด้วยน้ำแข็ง
- อาจใช้แก้ปวดรับประทาน โดยควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ในการกดประสาทรุนแรง
- หากได้รับพิษมากหรือมีอาการปวดรุนแรง ให้รีบนำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
นอกจากนั้น มีรายงานการใช้สมุนไพรบางชนิดในการลดพิษ เช่น รางจืด น้ำมะนาว และยางมะละกอดิบที่สามารถลดพิษ และอาการปวดของพิษตะขาบได้
- สำหรับรางจืดอาจใช้ใบหรือลำต้นบดหรือฝนให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยประคบบาดแผล รวมถึงการต้มน้ำด่ืม ส่วนน้ำมะนาวควรใช้มะนาวพันธุ์ที่ให้รสเปรี้ยวจัด เพราะฤทธิ์ของกรดจะสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสารพิษได้
- ส่วนยางมะละกอเป็นสารที่มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์สามารถทำปฏิกิริยากับพิษได้เช่นกันจึงนิยมนำมาถอน และบรรเทาอาการของพิษต่างๆ สำหรับการใช้ทั้งน้ำมะนาว และน้ำยางมะละกอให้ใช้ทาบริเวณแผลโดยตรงเท่านั้น
- การป้องกันพิษตะขาบ หลักการป้องกันพิษจากตะขาบที่สำคัญก็คือการระมัดระวังตัวจากตะขายนั่นเอง โดยเฉพาะการหยิบจับสิ่งของที่อยู่ในที่มิดมืด ในร่องในรูต่างๆ ที่อาจมีตะขาบอาศัยอยู่ รวมไปถึงการสวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า หมวกหรือเครื่องสวมใส่ร่างกายต่างๆ ซึ่งต้องตรวจสอบก่อนทุกครั้งหากจะสวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์สวมใส่ที่เก็บทิ้งไว้นานๆ
ในช่วงหน้าฝนหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรต้องระวังในเรื่องสัตว์ที่มีพิษเป็นพิเศษ เพราะหากฝนตกหนักมักจะทำให้สัตว์มีพิษเหล่านี้หนีน้ำขึ้นหาที่สูงเพื่อหลบอาศัย โดยเฉพาะตามบ้านเรือนไกล้น้ำ ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง และสอดส่องเป็นพิเศษ
พิษแมงป่อง และการแก้พิษ
แมงป่อง (Scorpion ) จัดเป็นสัตว์มีพิษ ที่มีมากกว่า 1,000 ชนิด (species) สามารถพบได้ในทุกประเทศทั่วโลก แมงป่องเป็นสัตว์ที่หากินในตอนกลางคืน ส่วนกลางวันมักจะหลบซ่อนในที่มิดชิด เช่น ใต้กองไม้หรือตามรูในดิน การล่าของแมงป่องจะใช้ก้ามทั้งสองข้างในการจับเหยื่อ และคอยต่อสู้กับศัตรู
โดยมีส่วนปลายของหางมีลักษณะคล้ายเข็ม ภายในจะมีรูเชื่อมต่อกับต่อมพิษไว้ป้องกันตนเองและล่าเหยื่อ โดยพิษจะถูกขับออกมาสู่เหยื่อขณะที่มีการใช้ปลายหางทิ่มแทงเหยื่อ
การต่อยของแมงป่องในคนเราโดยส่วนมากจะมีแค่อาการปวดบริเวณที่ถูกต่อยเท่า นั้นไม่ถือเป็นพิษอันตรายมาก
อาการของพิษ
พิษของแมงป่องมีทั้งแบบที่เป็นเอนไซม์ มีผลในการทำลายเนื้อเยื่อ และพิษแบบ neurotoxin มีฤทธิ์ต่อระบบประสาททำให้รู้สึกปวดชาในบริเวณที่ถูกต่อย แต่อาจมีอาการปวดมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของพิษ โดยมีอาการโดยทั่วไป แบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้
- เกิดแผล บวมพองหรือเป็นตุ่มแดงบริเวณที่ถูกต่อย พร้อมกับอาการคัน ปวดตามมาหลังการต่อยครึ่งถึง 1 ชั่วโมง
- บางชนิดมีพิษที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดอาการปวดแสบไปทั่วอวัยวะข้าง เคียงบริเวณจุดที่ต่อย ร่วมด้วยมีชีพจรเต้นเร็ว และความดันโลหิตสูงขึ้น
- มีอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น กระกระตุก การชา เป็นต้น
- ในส่วนของพิษแมงป่องชนิดร้ายแรงจะมีลักษณะแผลที่ถูกต่อยเหมือนข้างต้น ตามมาด้วยระบบการทำงานของร่างกายมีความผิดปกติ อาจมีอาการชัก และเสียชีวิตตามมาหากรักษาไม่ทัน เช่น ในสายพันธุ์ Centruroides exilicauda ในสหรัฐอเมริกา
การรักษาเบื้องต้น
- สำหรับผู้ป่วยที่ถูกต่อยด้วยพิษในระดับ 1 และ2 จะสามารถหายเองในเวลาไม่กี่ชั่วโมงแต่มักมีอาการปวดที่ต้องรักษา โดยการใช้น้ำแข็งประคบ การกินยาแก้ปวด โดยหลีกเลี่ยงยาชนิด morphinederivatives ที่มีผลกดระบบประสาทส่วนกลาง
- สำหรับผู้ที่ได้รับพิษรุนแรงในระดับ 3-4 ซึ่งจะมีอาการอย่างเห็นได้ชัดใน 5-6 ชั่วโมงหลังถูกต่อย โดยให้ทำการประถมพยาบาลที่แผลโดยทั่วไป และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
- ในบางท้องที่มีการใช้สมุนไพรเพื่อระงับอาการปวดได้ด้วย อาทิภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้น้ำมะนาวทาแผลเพื่อลดอาการปวด การใช้ใบมะละกอขยี้ทาประคบแผล รวมถึงการใช้รางจืดบดขี้หรือตำผสมน้ำประคบรอยแผล ซึ่งพบว่ามีผู้ได้รับพิษที่ใช้สมุนไพรดังกล่าวมีอาการปวดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
สมุนไพรใกล้ตัว มุ่งเสนอสรรพคุณทางยา การนำไปใช้ควรพิจารณาอย่างรอบด้าน
แหล่งที่มา: postsod