
หญ้างวงช้าง
หญ้างวงช้าง ชื่อสามัญ Alacransillo, Eye bright, Indian Heliotrope, Indian Turnsole, Turnsole
หญ้างวงช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Heliotropium indicum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Heliophytum indicum (L.) DC., Tiaridium indicum (L.) Lehm.) จัดอยู่ในวงศ์หญ้างวงช้าง (BORAGINACEAE)
สมุนไพรหญ้างวงช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), หวายงวงช้าง (ศรีราชา), หญ้างวงช้างน้อย (ภาคเหนือ), หญ้างวงช้าง (ไทย), กุนอกาโม (มลายู-ปัตตานี), ชื้อเจาะ(ม้ง), ไต่บ๋วยเอี้ยว เฉี่ยผี่เช่า (จีนแต้จิ๋ว), เงียวบ๋วยเช่า ต้าเหว่ยเอี๋ยว เซี่ยงปี๊่เฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของหญ้างวงช้าง
ต้นหญ้างวงช้าง
จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุเพียงฤดูกาลเดียว เกิดในช่วงฤดูฝน ถึงหน้าแล้งก็ตาย มีความสูงของต้นประมาณ 15-60 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก มีขนหยาบปกคลุมตลอดทั้งต้น ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด
จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มักได้ทั่วไปในที่ที่มีความชื้น เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักพบได้ตามพื้นที่ชื้นแฉะ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ ท้องนา แหล่งน้ำต่าง ๆ หรือตามที่รกร้างตามวัดวาอารามทั่วไป และมีบ้างที่ปลูกไว้เก็บมาขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนต่าง ๆ

ใบหญ้างวงช้าง
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกเกือบตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือป้อม ปลายใบแหลมสั้น กลางใบกว้างออก โคนใบมนรีหรือเรียวต่อลงมาถึงก้านใบ
ส่วนขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบหยาบ มีรอยย่น และขรุขระ หลังใบและท้องใบมีขนเล็กน้อย มีก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร

ดอกหญ้างวงช้าง
ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่บริเวณปลายยอด ปลายช่อมักม้วนลงดูเหมือนงวงช้างหรือหางแมงป่อง ช่อดอกยาวประมาณ 3-20 เซนติเมตร ดอกจะออกดอกทางด้านบนด้านเดียวและเรียงกันเป็นแถว ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีฟ้าอ่อนหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร
และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแยกออกจากกัน ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีขนสีขาว ภายในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน ติดอยู่กับฐานดอก รังไข่เป็นรูปจานแบน ๆ

ผลหญ้างวงช้าง
ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลเป็นคู่ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผลเกิดจากการที่รังไข่ 2 อันรวมตัวติดกัน เปลือกผลแข็ง ข้างในแบ่งออกเป็นช่อง 2 ช่อง มีเมล็ดอยู่ตามช่อง ช่องละ 1 เมล็ด

ตำรับยา
1. แก้ปวดท้อง แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ต้นสดต้มน้ำกิน
2. แก้ปอดอักเสบ มีฝีเป็นหนองมีหนอง ใช้ต้นสดต้มผสมกินกับน้ำผึ้งกิน
3. แก้ปากเปื่อยเน่า ใช้ใบสดตำคั้นเอาน้ำอมบ้วนปากวันละ 4-6 ครั้ง
4. แก้แผลฝีเม็ดเล็กๆ มีหนอง ใช้รากสดผสมเกลือเล็กน้อย ต้มน้ำกิน แล้วใช้ใบสดตำกับข้าวเย็นพอแผลอีกด้วย
5. แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ทั้งต้นรวมราก 1 ต้น หั่นเป็นท่อนต้มกับน้ำดื่ม
6. แก้ภูมิแพ้ นำใบและต้น มาผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำซอย แล้วมวนเป็นยาสูบ
7. แก้ตาฟาง ตามัว นำรากสดมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำหยอดตา
8. ขับประจำเดือน ใช้ดอกสดต้มกิน
หมายเหตุ : การเก็บสมุนไพรชนิดนี้มาใช้ ให้เก็บทั้งต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่และมีดอก นำมาล้างให้สะอาด จะใช้เป็นยาสดหรือนำมาตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้ก็ได้ ส่วนวิธีใช้ตาม และให้ใช้ต้นสดครั้งละ 30-60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน (แต่ถ้าเป็นต้นแห้งให้ใช้เพียงครั้งละ 10-20 กรัม) ถ้าใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาน้ำชะล้าง หรือคั้นเอาแต่น้ำใช้อมบ้วนปาก
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรหญ้างวงช้าง
– สตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้้ ถ้าใช้มากเกินขนาด อาจทำให้แท้งบุตรได้
– ทั้งต้นหญ้างวงช้างมีสารพิษ Pyrrolizidine alkaloid เป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อตับ หากได้รับในครั้งแรกจะทำให้อาเจียน หลังจากนั้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง จะมีอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง และหมดสติ
– ส่วนวิธีการรักษาเบื้องต้นให้รีบทำให้อาเจียน ด้วยการรับประทาน Syrup of ipecac 2 ช้อนโต๊ะ สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่อายุตั้งแต่ 1-12 ปี ให้รับประทานเพียง 1 ช้อนโต๊ะ
– ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าสารที่เป็นพิษคือสาร Lasiocarpine มีฤทธิ์ทำให้ตับอักเสบ (cirrhoesis) เป็นพิษต่อตับ (มีข้อมูลอื่นระบุว่า แม้ได้รับเพียงครั้งเดียวก็สามารถก่อให้เกิดการทำลายเซลล์ตับแบบเรื้อรังได้)
ประโยชน์ของหญ้างวงช้าง
– ใบใช้รักษาสิว (ข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้ แต่เข้าใจว่านำใบมาตำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นสิว)
– สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานย้อมสีได้ จากการสกัดน้ำสีจากใบหญ้างวงช้าง เมื่อนำมาย้อมเส้นไหมก็พบว่าได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี มีความคงทนต่อการซักในระดับดีและดีมาก และมีความคงทนต่อแสงในระดับดี โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาลอ่อน
– คนอีสานมีภูมิปัญญาการใช้หญ้างวงช้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการเป็นเครื่องมือตรวจวัดอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เมื่อต้องการวัดคุณภาพของอากาศ ถ้าช่อดอกเหยียดตรงแสดงว่าปีนั้นฝนจะแล้งจัด แต่ถ้าช่อดอกม้วนงอแสดงว่าปีนั้นจะมีน้ำมาก และถ้าแปลงนามีต้นหญ้างวงช้างขึ้นเป็นจำนวนมากก็แสดงว่าแปลงนานั้นมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งจากการทดลองพบว่าแปลงที่มีหญ้างวงช้างเจริญงอกงามดี จะสามารถให้ผลผลิตมากกว่าแปลที่ไม่มีหญ้างวงเกิดประมาณ 60% (จากการทดลองไม่มีการใส่ปุ๋ยทั้งสองแปลงเพื่อทำการเปรียบเทียบ)
แหล่งที่มา: มูลนิธิหมอชาวบ้าน, medthai.com
เรียบเรียงโดย: samunpaisecrete.com